นอนกรน เสี่ยงหยุดหายใจ
อาการนอนกรน
สัญญาณเกิดความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ ในขณะที่นอนหลับ ร่างกายมีการคลายตัว รวมทั้งกล้ามเนื้อบริเวณช่องคอ เช่นกล้ามเนื้อเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ผนังคอหอย โคนลิ้น เมื่อกล้ามเนื้อคลายตัวและหย่อนตัวลง ทำให้ช่องคอแคบลง ทางเดินหายใจตีบแคบหรือเกิดการปิดกั้นทางเดินหายใจได้ เมื่ออากาศที่หายใจเข้าไปพยายามเคลื่อนตัวผ่านช่องแคบจะเกิดการสั่นสะเทือนและสะบัดของกล้ามเนื้อ หรือเนื้อเยื่อบริเวณนั้น จึงเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น
ชนิดความผิดปกติในการนอนกรน แบ่งเป็น 2 กรณี ดังนี้
- ชนิดที่ไม่อันตราย คือ กรนเสียงเบาคล้ายเสียงหายใจและสม่ำเสมอ
- ชนิดที่เป็นอันตราย คือ กรนเสียงดังแรงมาก สลับกับ ค่อย หรือเงียบเสียงร่วมกับหายใจสะดุดและสำลัก ทำให้ทางเดินหายใจมีการอุดกั้นและอาจเกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
ใครบ้างที่เสี่ยง...!!
- นอนกรนเสียงดัง
- ง่วงเพลียระหว่างวันอยู่เสมอๆ
- มีคนสังเกตหยุดหายใจขณะหลับ
- มีโรคความดันโลหิตสูง
- อายุที่มากขึ้น
- เพศชายมีโอกาสนอนกรนมากกว่าเพศหญิง
- น้ำหนักตัวมาก หรือมีภาวะโรคอ้วน
- ลักษณะโครงสร้างของกระดูกใบหน้าผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางร่นไปด้านหลัง คอสั้นใหญ่
- โรคทางต่อมไร้ท่อ ได้แก่ ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย
อันตรายจากนอนกรน...!!
- หลับไม่สนิท หลับๆ ตื่นๆ อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น
- หงุดหงิดอารมณ์แปรปรวน
- ความต้องการทางเพศลดลง
- มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความจำหรือสมาธิ
- เสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เส้นเลือดสมองอุดตัน
โรคนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ Obstructive Sleep Apnea (OSA)
เกิดขึ้นเฉพาะขณะหลับเท่านั้น เพราะขณะหลับกล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจ คอหอย หย่อนตัว ท่อทางเดินหายใจส่วนต้นก็จะฟีบเข้าหากันเหมือนการดูดหลอดกาแฟส่งผลให้หยุดหายใจหรือหายใจแผ่ว ทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำ กระตุ้นให้สมองสั่งการให้กลับหายใจแรงเหมือนสำลักเพื่อเปิดทางเดินหายใจ ทำให้หลับไม่ลึกเหมือนพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นภาวะทำให้เสี่ยงกับโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคซึมเศร้า และเบาหวาน ปัจจุบันการรักษาสามารถทำได้โดยการใส่เครื่องมือในช่องปาก ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกของการรักษาทดแทนการใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก (หรือซีแพน) และการผ่าตัดใส่ได้ง่ายตลอดทั้งคืน
การรักษา...!!
การใส่เครื่องมือในช่องปากด้วยเครื่องมือปรับยื่นขากรรไกรล่าง คือ การปรับยื่นขากรรไกรล่างมากทางด้านหน้าเพื่อเปิดทางเดินหายใจบริเวณคอหอยให้กว้างมากขึ้น ทำให้อากาศผ่านเข้าได้ง่าย ช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้นและเสียงกรนเบาลง การรักษาด้วยวิธีนี้จะเหมาะกับผู้ที่มีความรุนแรงของอาการตั้งแต่น้อยถึงปานกลางหรือรุนแรงแต่ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกไม่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาด้วยการผ่าตัดจะมีความปลอดภัย จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น
สนับสนุนข้อมูลโดย : ผศ.ดร.ทพญ.เปรมทิพย์ ชลิดาพงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อต่อขากรรไกรและระบบบดเคี้ยว
โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร.1745